ไข้หวัดใหญ่
ช่วงหน้าฝนนี้เป็นช่วงที่เชื้อโรคแพร่กระจายผ่านสายลมและสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ง่ายช่วงหน้าฝนนี้เป็นช่วงที่เชื้อโรคแพร่กระจายผ่านสายลมและสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ง่าย
ไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ คืออะไร?
โรคไข้หวัดใหญ่ คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) มีลักษณะโรคเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจ ไข้หวัดใหญ่มีสายพันธุ์หลักอยู่ 3 ชนิด คือ influenza A influenza B และ influenza C แต่ที่มีการเฝ้าระวังกันอย่างจริงจังจะมีแค่ชนิด A และ B เนื่องจากชนิด C พบได้น้อย มีอาการไม่รุนแรง และไม่เกิดการแพร่ระบาดได้มากเท่ากับ 2 ประเภทแรก
เมื่อพิจารณาจากสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง จะแบ่งเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B ซึ่งแต่ละชนิดแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยๆรวม 4 ชนิดด้วยกัน
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อาจเรียกสั้น ๆ ว่า ฟลู A แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ย่อยได้เป็น H1N1 และ H3N2 ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงที่สุด เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก เช่น ไข้หวัดสุกร ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เป็นต้น โดยมักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B หรือเรียกสั้น ๆ ว่าฟลู B แบ่งเป็นสายพันธุ์แยกย่อยได้เป็น สายพันธุ์ B ตระกูล Victoria และ สายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata เป็นไวรัสที่จะพบเชื้อได้ในคนเท่านั้น อาการไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A ส่วนมากจะเกิดการแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว เพราะสภาพแวดล้อมที่เชื้อไวรัสชนิดนี้ชอบคือ อากาศเย็นและแห้ง
ใครควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่บ้าง?
เราทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไปประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะอยู่ที่ 50-90% (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัส)อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่แพทย์แนะนำให้รีบมาทำการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ได้แก่บุคคลที่จัดอยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้
- หญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 4 เดือน
- เด็กเล็ก (อายุ 6 เดือน – 2 ปี)
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด
- ผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
- ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน (น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กก. และคำนวณค่า BMI ได้มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตร.ม.)
ผลข้างเคียงหลังเข้ารับการฉีดวัคซีน
เนื่องจากในประเทศไทยใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย เชื้อไวรัสที่อยู่ในวัคซีนได้ถูกทำลายหมดแล้ว จึงไม่ค่อยพบกรณีที่มีผลข้างเคียงรุนแรง แต่ก็อาจมีอาการข้างเคียงต่าง ๆ ได้แก่ ปวดบวมแดงร้อนเฉพาะที่ ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ เป็นต้น
ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อไหร่ และถี่แค่ไหน?
สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป และจำเป็นต้องได้รับวัคซีนทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรคตลอดเวลา เพราะไข้หวัดใหญ่แต่ละสายพันธุ์จะแตกต่างกันในแต่ละปี โดยเราสามารถแบ่งตามช่วงอายุของผู้เข้ารับการฉีดได้ดังนี้
- สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ขวบ ให้ฉีด 2 เข็มในปีแรก โดยเว้นระยะห่างการฉีดครั้งละ 1 เดือน หากในปีแรกได้ฉีดเพียงครั้งเดียว ให้ฉีด 2 ครั้งในปีถัดมา แล้วหลังจากนั้นค่อยฉีดปีละครั้งได้
- บุคคลทั่วไป ฉีด 1 เข็ม และต้องฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกปี
สำหรับผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่จัดอยู่ในกลุ่ม หากมีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์
- มีไข้สูงและเป็นมานาน
- ให้ยาลดไข้แล้วไข้ยังเกิน 38.5 องศา
- หายใจหอบหรือหายใจลำบาก
- มีอาการแน่นหรือเจ็บหน้าอก
- หน้ามืดเป็นลม
- มีอาการสับสน
- มีอาการอาเจียน กินอาหารไม่ได้
สรุป
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่อันตราย มีการแพร่ระบาดทั่วโลกทุกปี โดยเฉพาะในประเทศไทย ทุกคนจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้พอ ๆ กัน และไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะมีอาการรุนแรงมากน้อยเพียงใด ดังนั้นขั้นตอนการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ และรู้จักการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการติดโรคจากผู้อื่นเบื้องต้น