ไม่อยากเป็นอีสุกอีใส จะป้องกันได้อย่างไร ?
โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) เป็นโรคซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส วีแซดวี (varicella-zoster virus, VZV) ระหว่างคนสู่คนผ่านทางอากาศหายใจ ละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือสัมผัสกับตุ่มน้ำใสของผู้ป่วยโดยตรง
ทำความรู้จักกับโรคอีสุกอีใส (Chickenpox)
เป็นเชื้อที่มีชีวิตแล้วนำมาทำให้อ่อนฤทธิ์เพื่อเข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและป้องกันการเกิดโรคอีสุกอีใส ทั้งนี้ในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมีทั้งรูปแบบวัคซีนเดี่ยวและวัคซีนรวม ซึ่งเป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน และโรคอีสุกอีใสในเข็มเดียวกัน
สัญญาณ…โรคอีสุกอีใส
เริ่มด้วยมีไข้ ปวดเมื่อยหรือเจ็บคอ เบื่ออาหาร ตามด้วยมีตุ่มน้ำใสเล็กๆ ขึ้นทั่วตัว มักมีอาการคันร่วมด้วย ต่อมาผื่นจะตกสะเก็ดและหลุดหมดภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์ โดยทั่วไปโรคอีสุกอีใสมีความรุนแรงของโรคน้อย แต่อาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ ภาวะปอดอักเสบและสมองอักเสบได้ในทารกแรกเกิด ผู้ใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง
การป้องกันโรคคือการฉีดวัคซีนป้องกัน
เป็นวัคซีนทำจากเชื้อไวรัสที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ส่วนใหญ่ของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะไม่เป็นโรค มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจติดเชื้อโรคอีสุกอีใสได้ แต่จะมีอาการแสดงและภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
ผู้ที่ “ควร” ได้รับวัคซีนโรคอีสุกอีใส
- ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
- เด็กอายุน้อยกว่า 13 ปี ฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ครั้งแรกขณะอายุ 12-18 เดือน ครั้งที่ 2 ขณะอายุ 4-6 ปี หรือห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
- วัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ให้ฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
- ผู้ที่ “ควรงด” รับวัคซีนโรคอีสุกอีใส
- เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสในครั้งก่อน
- แพ้สารเจลาติน หรือแพ้ยาปฏิชีวนะนีโอมัยซิน (Neomycin)
- หญิงตั้งครรภ์
ผู้ที่มีภาวะดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- เป็นมะเร็ง หรือกำลังรักษามะเร็ง ไม่ว่าด้วยวิธีฉายรังสี หรือยาเคมีบำบัด
- รับประทานยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น สเตียรอยด์
- เคยรับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด
- ผู้ที่รับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำ
- หากมีไข้หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน รอให้หายป่วยก่อนจึงค่อยมารับวัคซีน กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับวัคซีนได้
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังรับวัคซีนโรคอีสุกอีใส
- อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ อย่างไรก็ตามอาการแพ้อย่างรุนแรงจากวัคซีนพบได้น้อยมาก
- ปฏิกิริยาที่อาจพบหลังฉีดวัคซีน ได้แก่ ปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ไข้ต่ำๆ ผื่นคล้ายโรคอีสุกอีใส แต่จะไม่รุนแรงและหายเองได้
- หากมีอาการปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีนสามารถประคบเย็นได้ และหากมีไข้ต่ำๆ สามารถรับประทานยาลดไข้ได้ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอื่นนอกเหนือจากนี้ควรปรึกษาแพทย์
หมายเหตุ : ข้อควรระวังก่อนฉีดวัคซีนอีสุกอีใส
- หญิงที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือนหลังฉีดวัคซีน
- หญิงให้นมบุตร ปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
- หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับการฉีดวัคซีน